โดย สุรเชษฐ์ พอสม
สลิดดก หรือ สลิดด๊อก ในพื้นที่ภาคเหนือ คงคุ้นชินกับคำนี้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งมีความหมายว่า ระริกระรี้ สะดีดสะดิ้ง ดัดจริต หรือกระแดะ อะไรทำนองนั้น โดยส่วนใหญ่คำดังกล่าวจะเป็นคำที่ใช้สำหรับเชิงลบ ดูหมิ่น เหยียดหยาม เพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้เขียนเพิ่งเคยได้ฟังคำว่า จริตดก จาก อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ในงานเสวนาวิชาการใน youtube ซึ่งฟ้องเสียงกับคำว่า สลิดดก ซึ่งผู้เขียนคุ้นชินดีอยู่แล้วสำหรับคำนี้ ทำให้สงสัยและอยากรู้ว่าคำดังกล่าวเป็นคำเดียวกันไหม และมีที่มาที่ไปยังไงกันแน่ ดังนั้น
ผู้เขียนจึงตั้งข้อสงสัย 4 ข้อเพื่อหาคำตอบว่า
1. คำว่า สลิดดก กับคำว่า จริตดก คือคำเดียวกันไหม
2. แล้วใครเป็นคนใช้คำพูดคำนี้ก่อนกันระหว่างภาคเหนือ กับ ภาคกลาง
3. คำว่า จริตดก หรือคำว่า สลิดดก คำไหนมีมาก่อนกัน
4. คำว่า สลิดดก หรือ จริตดก มีรากศัพท์มาจากคำว่าอะไร
เมื่อตั้งข้อสงสัยตั้งคำถามแล้ว ผู้เขียนก็ได้เริ่มค้นหาข้อมูล โดยเริ่มต้นจากรากศัพท์ของคำว่า สลิด+ดก และ จริต+ดก
สลิด
แปลว่า ดัดจริต นอกจากนี้ยังเป็นชื่อไม้เถาชนิดหนึ่ง และเป็นชื่อปลานํ้าจืดชนิดหนึ่ง ยังไม่พบรากศัพท์โดยตรง แต่ เดชา ศิริภัทร ให้ข้อมูลไว้ว่า(อ้างอิง 1) “ปลาช่อนและปลาสลิดเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี และนิยมกินกันมากมาครั้งโบราณยาวนาน จนกระทั่งถูกนำไปใช้เป็นคำเปรียบเทียบกับอวัยวะของคนที่ถือว่าไม่สุภาพ คือปลาช่อนถูกนำไปใช้แทนอวัยวะเพศชาย และปลาสลิดใช้แทนอวัยวะเพศหญิง ทำให้คำว่าช่อนและสลิดกลายเป็นคำไม่สุภาพ จนต้องมีคำอื่นมาใช้เรียกแทน คือปลาช่อนเรียกให้สุภาพว่าปลาหางและปลาสลิดเรียกว่าปลาใบไม้ ”
เมื่อผู้เขียนหาข้อมูลเพิ่มเติมพบข้อความว่า “สลิด” เพี้ยนมาจากคำว่า “จริต” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงแนะนำให้เรียกปลาสลิดในหมู่ราชบริพารว่า “ปลาใบไม้” เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้ (อ้างอิง 4)
นอกจากนี้ ต้นสลิด เป็นต้นไม้ที่ภาคกลางเรียกว่า ต้นขจร ใช้ในบทร้อยกรอง ลิลิตพงศาวดารเหนือ ช่วงรัชกาลที่ 5 ว่า “กระทุ่มกระจรแล้ คชน้าวกาหลง” (อ้างอิง 3) ทำให้ทราบว่าคำว่าสลิดนั้นอาจมีการใช้แพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน มากกว่าจะใช้ในราชสำนักเลยทำให้คำว่าสลิด เป็นคำที่ดูหยาบคาย
ส่วนคำว่า สฤษดิ์ सृष्ट (สฺฤษฺฏ, ) หรือ सृष्टि (สฺฤษฺฏิ,) ที่ฟ้องเสียง มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตซึ่งหมายถึง “ที่สร้างไว้” หรือ “การสร้าง” (อ้างอิง 2) ซึ่งผู้เขียนคิดว่า คำนี้น่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องเลยไม่ได้ค้นคว้าต่อ
ดก
แปลว่า มาก, มากกว่าปรกติ
ดกดื่น
ดก หมายความว่า(อ้างอิง 5) มีมาก มีมากกว่าปรกติ ใช้เป็นคำขยายคำนามที่หมายถึงสิ่งใด ๆ ตามธรรมชาติ เช่น ผม ขน คิ้ว ที่มีมากกว่าปรกติ หรือที่มีมากกว่าคนโดยทั่วไป เรียกว่า ผมดก ขนดก คิ้วดก. ผู้ที่มีบุตรหลายคน และมีบุตรในเวลาติดต่อกัน เรียกว่า มีลูกดก เช่น คนรวยมีลูกยาก แต่คนที่ไม่ค่อยมีเงินก็มักจะมีลูกดก. นอกจากใช้กับการมีลูกของคนแล้ว ยังใช้กับการมีลูกของสัตว์ และการที่ไก่ออกไข่มากกว่าไก่อื่น ๆ ด้วย เช่น สุนัขบางตัวลูกดก ออกลูกครอกหนึ่งตั้งสิบตัว. ไก่ที่ได้กินอาหารดี ๆ มักจะไข่ดก. นอกจากนี้ ต้นไม้ที่ออกดอกมาก หรือมีผลมาก ก็เรียกว่า ดอกดก ผลดก. ผลไม้ที่อาจออกผลดกได้ เช่น มะม่วงดก มะละกอดก ขนุนดก พุทราดก มะพร้าวดก
ดื่น หมายความว่า มีมาก มีอยู่ทั่วไป เช่น แก้วมังกร ปลาแซมมอน ก่อนนี้แพงเพราะหายาก เดี๋ยวนี้มีขายดื่นไป ราคาจึงถูกลง. เดี๋ยวนี้เสื้อผ้าสวย ๆ มีขายอยู่ดื่นไปตามตลาดนัด. คำว่า ดื่น นี้ ใช้ว่า ดกดื่น ก็ได้ เช่น ปัจจุบันผลไม้ต่างประเทศมีขายอยู่ดกดื่น.
จริต
ภาษาบาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจากคำว่า จรฺ แปลว่า(ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + ต) : จรฺ + อิ + ต = จริต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาประพฤติแล้ว” “จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living) ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ(อ้างอิง 6)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มี 6 ประการ(อ้างอิง 7) หมายถึง ความประพฤติ คือกิริยาอาการที่แสดงออกมาให้เห็น มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า จริย จริยา หรือ จรรยา โดยทั่วไปจะใช้หมายถึงกิริยาอาการที่ไม่ดี เช่น เสียจริต วิกลจริต ดัดจริต จริตจะก้าน แต่ในทางพุทธศาสนา หมายถึง ความประพฤติ, พื้นเพ นิสัย มี 6 อย่างคือ
- ราคจริต หนักไปทางรักสวยรักงามคือ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะ
- โทสจริต หนักไปทางเจ้าอารมณ์มักโกรธ เป็นคนขี้โมโหโทโส พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว ชอบจับผิด จึงมองข้อตลกของคนได้ดี จึงมักเป็นคนที่พูดจาได้ตลกและสนุกสนาน
- โมหจริต หนักไปทางเขลา ง่วงซึม ไม่ค่อยชอบคิดมาก และขี้เกียจ
- สัทธาจริต หนักไปทางเชื่อถือจริงใจ น้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เกิดปีติเลื่อมใสได้ง่ายเมื่อเจอบุคคลน่านับถือ เชื่อตามที่บอกต่อกันมา ขาดการพิจารณา
- พุทธิจริตหรือญาณจริต หนักไปทางใช้ปัญญา เจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ การคิดการอ่าน ความทรงจำดี ชอบสั่งสอนคนอื่น
- วิตกจริต หนักไปทางชอบคิดมาก ถ้าขี้ขลาดจะวิตก กังวล ฟุ้งซ่านชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ คิดอย่างไม่มีเหตุผล เกินจริง
สรุป
จากข้อมูลทั้งหมดที่ผู้เขียนหามาได้คำว่า สลิด มีการใช้คำดังกล่าวมาอย่างน้อยที่สุดคือตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ. 2347 ถึง พ.ศ. 2411 ในกรณีเปลี่ยนชื่อปลา ที่ระบุว่าคำว่า สลิด เพี้ยนมาจากคำว่า จริต และผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับข้อมูลข้างต้น นอกจากนี้ จากข้อมูลข้างต้นได้อธิบายถึงคำว่า จริต มี 6 ประการ ซึ่งหากใครที่มีจริตต่างๆ มากกว่าคนทั่วไปหรือครบทั้ง 6 ประการ ผู้เขียนก็คิดว่าผู้นั้นคงจะถูกเรียกว่า ผู้มีจริตดก ได้ง่ายๆ สมเหตุสมผล สอดคล้องกับ บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ใช้ข้อความเขียนลงในหนังสือชายคาวรรณคดี ว่า “มนุษย์นี้จริตดก ๖ สถาน” (อ้างอิง 8) ดังนั้นผู้เขียนขอสรุปข้อสงสัยที่ได้ตั้งไว้ตอนต้น 4 ข้อดังนี้
1. คำว่า สลิดดก กับคำว่า จริตดก คือคำเดียวกัน
2. คำว่า สลิดดก หรือ จริตดก น่าจะเป็นคำภาษาไทยกลาง ที่นำไปเผยแพร่ในพื้นที่ภาคเหนือยุคหลัง เพราะภาษาเหนือไม่ใช้คำว่า “ดก” แต่จะใช้คำว่า “นัก” เช่น สลิดนัก
3. คำว่า จริตดก มีมาก่อนคำว่า สลิดดก
4. คำว่า สลิดดก หรือ จริตดก มีรากศัพท์มาจากคำว่าอะไร จริต + ดกดื่น
**อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังไม่สรุปว่า คำว่า สลิด มาจากไหนและระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางใครเป็นผู้เริ่มต้นใช้คำว่า สลิด ก่อนกัน
คำศัพท์ดังกล่าวมีการนำมาเผยแพร่ผ่านละคร กลิ่นกาสะลอง ในช่อง 3 ปี พ.ศ. 2562 ฉากละครสื่อถึงภาคเหนือในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2467 แสดงนำโดย อุรัสยา เสปอร์บันด์ แสดงเป็นฝาแฝดชื่อ กาสะลอง และ บทซ้องปีบ ในละครมีการใช้คำว่า “สลิดดก”
อ้างอิง
- เดชา ศิริภัทร. (2544). คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 270. https://www.doctor.or.th/article/detail/3344
- https://th.wiktionary.org/wiki/สฤษดิ์
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยาลงกรณ์. (2423). ลิลิตพงศาวดารเหนือ. ฉบับโรงพิมพ์ไท ร.ศ. ๑๒๗.
- https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาสลิด
- https://legacy.orst.go.th/?knowledges=ดกดื่น-๒๓-เมษายน-๒๕๕๒
- http://dhamma.serichon.us/2020/01/27/พุทธิจริต-ไม่ใช่-พุทธจ/
- https://th.wikipedia.org/wiki/จริต
- บุญเตือน ศรีวรพจน์. (2558). ชายคาวรรณคดี. สุวรรณภูมิ เฮอริเทจ. กรุงเทพฯ.