เย็นลมจอย
2 min readApr 23, 2024

ยางน่อง ตำนานพิษร้ายจากปลายลูกดอก

โดย สุรเชษฐ์ พอสม

สวัสดีครับ วันนี้พอมีเวลาว่างมาเขียนเรื่องราวบันทึกความทรงจำไว้กันลืม เนื่องจากว่าได้มีโอกาสกลับบ้านช่วงปีใหม่เมือง(สงกรานต์) พ.ศ.2567 พอดีว่ามีนายพรานวัยลายคราม ที่เคารพนับถือกันเหมือนญาติผู้ใหญ่มาเยี่ยมบ้านชื่อว่า “พรานทำ” เลยได้คุยกันเล่าย้อนอดีตเรื่องการล่าสัตว์ในป่าอย่างออกรสออกชาดกันเป็นชั่วโมง แต่ไม่ได้น่าสนใจมากมายเพราะว่าปกติก็ได้คุยกันเรื่องราวแบบนี้เล่าให้กันฟังสนุกกันอยู่แล้ว แต่มีเรื่องนึงที่น่าสนใจมากจนผมต้องมาบันทึกไว้เป็นบทความในความทรงจำกันลืมไว้ เรื่องที่ว่านั้นคือเรื่องเกี่ยวกับ “ยางน่อง” ยางพิษที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ หากชีวิตไหนได้สัมผัสล้วนมรณา ใครเป็นแฟนนิยายในตำนานอย่าง “เพชรพระอุมา” คงจำกันได้ถึงฤทธิ์เดชของยางน่องจากกรณีของส่างปาที่โดนพิษจากลูกดอกของสางเขียว และได้รับการช่วยเหลือแก้พิษโดยว่านแก้ยางน่องที่คะหยิ่นใช้รักษา เอาละเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าโดยส่วนตัวผมก็เคยแต่ได้ยินผ่าน ๆ แต่ก็ไม่ได้สนใจไม่เคยรู้ว่ามันคือต้นอะไร เอายังไง ทำยังไง และใช้ยังไง เอาจริง ๆ ก็ไม่ค่อยจะเชื่อว่าเรื่องเล่ายางพิษแบบนี้มีจะมีจริงเพราะคิดว่าไกลตัว จนพรานทำได้เล่าให้ฟังถึงเกี่ยวกับการล่าสัตว์เข้าไปในป่าดงดิบชื่อว่า “ดงหลวง” ซึ่งมีต้นน่องขนาดใหญ่สูงตระหง่านอยู่กลางดงหลวงนั้น ไม่ถูกใครตัดเพราะว่าต้นน่อง ยางน่อง หรือน่องยางขาว เป็นไม้ยืนต้นไม่มีแกนมีแต่เปลือกกับเนื้อไม้ทำให้ไม่มีใครสนใจจะตัดเอามาใช้งาน จึงรอดพ้นการตัดมาเป็นที่มาของการเล่าเรื่องยางน่องของบทความวันนี้ พรานทำเล่าว่าส่วนตัวไม่รู้กระบวนการทำยางให้เป็นยางพิษ แต่ได้ยิน ได้สัมผัสคนที่ทำมาบ้างเพราะเคยมีหมอยาแก่ใช้ให้พรานทำไปเอายางน่องมาให้เพื่อจะใช้ผสมตามสูตรเป็นยาพิษไปทำร้ายคน พรานทำแกไม่เห็นด้วยเพราะมองว่ายุคสมัยนี้บ้านเมืองมีขื่อแปกฎหมายทะเลาะกันก็ไม่ควรทำร้ายกันเอาเป็นเอาตายแบบนี้ แกบอกว่าหากใช้พิษนี้ไปสัมผัสกับเหยื่อคนนั้นจะเสียชีวิตแบบไร้ร่องรอย

แกเล่าย้อนไปมาเกี่ยวกับยางน่องคิดออกจุดไหนแกก็เสริมข้อมูลเพิ่มมาผมเลยจะลำดับขั้นตอนตั้งแต่ต้นว่ากระบวนการและความเชื่อในการทำมีอะไรบ้าง

การเก็บน้ำยาง : พรานทำเล่าว่าขั้นแรกของการผลิตยาพิษจากยางน่อง คนทำหรือคนเก็บยางเป็นเคล็ดลับ ต้องตั้งใจเดินทางไปเอายางพิษนั้นโดยตรง หากไปเจอสัตว์ป่าสัตว์ใหญ่อะไรระหว่างทางก็ไม่ต้องสนใจให้ตั้งใจไปเอายางแล้วกลับ ถ้าเผลอยิงสัตว์ก็ต้องยกเลิกแผนเอายางในวันนั้นไป ต่อมาเมื่อถึงต้นยางแล้วจะทำการ…พรานทำพูดศัพท์บางอย่างแต่ผมจำไม่ได้ว่าใช้คำว่าอะไร แต่คือการบากหรือการขุดเปลือกยางน่องเพื่อให้น้ำยางไหลออกมานั่นแหละ หลังจากรองเอาน้ำยางได้ตามที่ต้องการแล้วก็กลับไปทำขั้นตอนต่อไป

การผลิตยาพิษ : ในขั้นตอนส่วนนี้พรานทำไม่ได้บอกว่าใช้ส่วนผสมอะไรเพราะแกก็ไม่รู้ไม่เคยทำ แต่รู้เพียงว่ามันมีส่วนผสมอื่นผสมลงไปในนั้นก่อนที่จะทำขั้นต่อไป นั่นคือการเคี่ยวไฟ หมอยาจะทำการเอายางน่องที่ได้มาผสมตามสูตรลับแล้วค่อย ๆ เคี่ยวไฟอ่อน ๆ จนได้เป็นเจลยาพิษยางน่องพร้อมใช้งาน

การทดสอบพิษ : การจะนำไปใช้นั้นผู้ที่ทำพิษขึ้นมาจะไม่สัมผัสกับยางที่เคี่ยวเลยเพราะอันตรายมาก การจะทดสอบว่าพิษนั้นพอดีสำหรับการใช้งานไหมนั้น จะทดสอบโดยเขียดกระโดด ใช่แล้วครับอ่านไม่ผิดคือหลังจากเคี่ยวเสร็จคนทำจะนำเขียด(คล้ายกบแต่ตัวเล็กกว่า) ที่เตรียมไว้มาเป็นเหยื่อ เขียดทดลอง

โดยการเอาหัวลูกดอกหน้าไม้จิ้มแตะยางน่องพิษที่เคี่ยว แตะลงบนหลังเขียดตัวนั้นดูว่ามันกระโดดไปกี่ครั้งถึงตาย หากแตะแล้วกระโดดครั้งเดียวแล้วตายเลยถือว่ายางพิษนั้นยังใช้ไม่ได้ต้องปรุงอีกรอบเพราะหากนำไปใช้จะทำให้สัตว์ที่โดนยิงนั้นพื้นจากการโดนยิงได้ไวเกินไป หากแตะหลังเขียดแล้วกระโดดไป 2 ถึง 3 ครั้งแล้วเขียดตัวนั้นตายถือว่าใช้ได้

การนำไปใช้ : ก็จะนำยาพิษนั้นใส่กระบอกไม้ที่ใช้เก็บลูกดอกหน้าไม้โดยแช่หัวลูกดอกไว้เลยเพื่อพร้อมใช้งาน พรานทำเล่าว่าตามที่ได้ยินมาคือว่าหากนำไปใช้แม้ยิงใส่สัตว์แล้วหัวลูกดอกไม่ปักเต็ม ๆ หรือแค่แฉลบก็ทำให้สัตว์ที่สัมผัสลูกดอกยาพิษนั้นตายได้เหมือนกัน

เล่ามาถึงตรงนี้ผมก็เลยคิดตามและตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันเป็นไปได้ไหมแล้วสอดคล้องกับความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนเลยสรุปข้อสงสัย ดังนี้

ข้อวิเคราะห์ข้อสังเกต

  1. การใช้ยางน่องดีรุนแรงในการล่าสัตว์ แต่ทำไมถึงลดความนิยมลงทำให้ความรู้ในการทำพิษหายไป : คงเนื่องมาจากมีปืนที่ดีกว่าเข้ามาใช้ในแถบเอเชียมากขึ้นและพิษก็อันตรายสำหรับคนใช้เองหากไม่ระวัง การทำพิษก็เป็นความรู้เฉพาะกลุ่มไม่แพร่หลายเลยทำให้พิษยางน่องเหลือเพียงเรื่องเล่าของคนบ้านป่า เป็นตำนานของคนเดินป่าไป

2. ถ้าเขียดกระโดด 1 ครั้งตายยาพิษใช้ไม่ได้ ตรงนี้ก็ไม่ค่อยเข้าใจเพราะพิษยิ่งแรงน่าจะยิ่งดี เลยเดาว่า : อาจจะเกี่ยวกับการเอาสัตว์มากินต่อหรือเปล่าพิษแรกอาจมีผลกับคนกิน หรือว่าพิษแรงทำให้สัตว์ช็อคพิษไหลไม่ทั่วร่างทำให้สัตว์ฟื้นได้ อันนี้ก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่หาคำตอบยังไม่สมเหตุสมผล

3. แค่เอาพิษแตะคนตายเลยอันนี้ก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่แต่ก็พอเป็นไปได้เพราะไปอ่านข้อมูลจากโครงการวิจัยรวบรวมองค์ความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง [1] พบว่ายางน่องมีสารที่เป็นพิษชื่อว่า antiarin มีฤทธิ์คล้าย strychnine มีรายงานว่าสารนี้ทำให้ถึงตาย เมื่อเข้าไปในกระแสเลือด ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้หากว่าไปโดนบาดแผลของคนโชคร้าย

(บทความที่เกี่ยวข้อง)

ยางน่อง ตำนานพิษแก้พิษ [2]
ยางน่อง เป็นต้นไม้ที่ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนทั่วไป มีทั้งอย่างชนิดยืนต้นและอย่างเถา ยางน่องต้น มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Antiaris toxicaria Lesch. อยู่ในวงศ์ Moraceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มาก อาจสูงได้ถึง 70 เมตร ลำต้นจะเป็นพูพอน แผ่ออกพื้นดินเพื่อยึดลำต้น เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ สีขาวหรือขาวอมเทา เปลือกชั้นในสีขาวหรือขาวอมเหลือง ถ้าถากเปลือกดูจะมีน้ำยางสีขาวหรือขาวอมเหลืองซึมตามรอยถาก พิษของยางน่องจะอยู่ที่ยางนี่แหละ ยางจะมีสารไกลโคไซด์ (glycoside) ที่เป็นพิษต่อหัวใจ ชื่อแอนดิเอริน (antiarin) มีรสขมและมีฤทธิ์กัด มีผลต่อระบบประสาท และหัวใจทำให้หัวใจเต้นช้าลง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และหัวใจวายตาย หมอโบราณทางภาคเหนือ กล่าวว่ายางที่ได้จากต้นยางน่องเป็นพิษ ใช้ชุบปลายลูกหน้าไม้ยิงสัตว์ใหญ่ได้ แต่ก่อนจะรับประทานเนื้อสัตว์นั้น ให้เฉือนเอาเนื้อร้ายที่มีสีเขียวอันเกิดจากพิษยางน่องให้หมดเสียก่อนจึงจะรับประทานได้ แม้ยางต้นน่องจะเป็นพิษแต่เนื้อไม้ที่มีสีขาว เป็นไม้ที่เสี้ยนตรง เนื้ออ่อน สามารถที่จะนำไปทำเป็นหีบใส่ของ รองเท้าไม้ เครื่องเล่นต่างๆได้ และสามารถใช้เมล็ดต้นยางน่องเป็นยาแก้ไข้ ส่วนเปลือกต้นยางน่อง ให้ใยละเอียดสีขาว ใช้ทำเชือก เยื่อกระดาษ ทุบทำเป็นที่นอน หรือหนังไว้ปูหลังช้างผ้าห่มและเสื้อกางเกงของพวกชาวป่า เช่น แม้ว มูเซอ และเงาะ เป็นต้น

นั่นแหละครับทั้งหมดที่เล่ามาก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับผมที่ได้รับรู้รายละเอียดเกี่ยวกับยางน่องได้ลึกขึ้นกว่าเดิมที่รับรู้มาแค่ผิวเผิน แค่เคยได้ยิน และคิดว่ามันควรบันทึกไว้เผื่อมีคนอื่นสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านป่าทำนองนี้เช่นกันกับผม และผมก็ขอจบบันทึกไว้เพียงเท่านี้หากมีเรื่องราวอะไรดี ๆ ที่ผมมีโอกาสเข้าไปสัมผัสโดยตรงที่น่าสนใจก็จะนำมาเล่าให้ทุกท่านได้ติดตามครับผม

อ้างอิง

[1] https://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=111&name=Upas tree, Sacking tree

[2] https://note005.blogspot.com/2013/06/blog-post_23.html?m=1

เย็นลมจอย
เย็นลมจอย

Written by เย็นลมจอย

สายลมถิ่น จอยวอยเย็น เป็นนิรันดร์

No responses yet