ประวัติที่มาของ เพลง “ไตรรงค์ธงไทย”

เย็นลมจอย
3 min readAug 10, 2021

โดย สุรเชษฐ์ พอสม

เริ่มต้นมีอยู่ว่าผู้เขียนเป็นคนชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ ของพื้นถิ่น และประเทศ หรือต่างประเทศเป็นทุนเดิม จึงได้รบเร้าให้คุณยาย หรือ เรียกตามภาษาพื้นถิ่นของผู้เขียนว่า “แม่อุ้ย” ให้เล่าเรื่องราวต่างๆตั้งแต่แม่อุ้ยจำความได้ให้ฟังว่ามีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้างในแต่ละช่วงยุคสมัย แม่อุ้ยก็เล่าเรื่องราวมากมายให้หลานๆฟัง หลากหลายเรื่องราวอารมณ์ ไว้มีโอกาสผู้เขียนจะมาถ่ายทอดให้อ่านกันในวาระต่อไป

แม่อุ้ยมีชื่อว่า เกี๋ยง จันทร์ขาว นามสกุลเดิมคือ มโนรส พอแต่งงานจึงได้ใช้นามสกุลตา หรือพ่ออุ้ยแทนตามธรรมเนียมปฏิบัติ เอาหละอย่างไรก็ตาม เหล่าหลานๆก็มักจะเรียกสั้นๆว่า แม่อุ้ยมากกว่าที่จะเอ่ยนามท่าน แม่อุ้ยเกิด วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2477 ปัจจุบันที่ผู้เขียนกำลังเขียน แม่อุ้ยอายุได้ 86 ปี 7 เดือน 27 วัน ยังสุขภาพแข็งแรงดี ยังเล่าเรื่องราวในอดีตให้หลานๆได้ฟังอีกหลายปี เพราะแม่อุ้ยความจำดีมากๆ ท่องแม่สูตรคูณตั้งแต่แม่ 1–12 ได้เป๊ะจนผู้เขียนต้องขอยอมแพ้

ขออิงเหตุการณ์ระดับประเทศสักหน่อยว่าปี พ.ศ.2477 ปีเกิดของแม่อุ้ยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
- ประเทศสยาม มีพระมหากษัตริย์ปกครองคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (อ้างอิง 1)
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
- เจ้าแก้วนวรัฐ ยังมีสถานะเป็นเจ้าผู้ปกครองประเทศราช นครเชียงใหม่
- เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ยังมีสถานะเป็นเจ้าผู้ปกครองประเทศราช นครลำพูน
- ประเทศสยามมีนายกรัฐมนตรีคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
- วันก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ภายหลังเรียก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
- งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ท้องสนามหลวง

เอาละเข้าเรื่องกันดีกว่าร่ายมาเยอะแล้ว มาพูดถึงเพลง “ไตรรงค์ธงไทย” ที่แม่อุ้ยเกี๋ยงได้ร้องให้ฟัง โดยแม่อุ้ยเข้าใจว่าเป็นเพลงชาติ เอาละไปฟังเนื้อร้องกัน

“ไตรรงค์ธงชาติ โบกสบัดสวยงามสง่า
7 นาฬิกา สัญญากันว่ายืนตรง ตรง
สีแดงคือชาติ สีขาวคือศาสนา
น้ำเงินนั้นหนา คือมหาจักรพงษ์”

เนื้อเพลงมีเท่านี้ ที่แม่อุ้ยร้องให้ฟัง ผู้เขียนเลยไปหาข้อมูลต่อว่าเพลงนี้คือเพลงชาติหรือเพลงอะไรกันแน่ได้เค้ามาว่าเป็นเพลง ไตรรงค์ธงไทย แต่ปัจจุบันเนื้อร้องได้เปลี่ยนแปลงไปบางส่วนแล้ว ดังนี้

“ไตรรงค์ธงไทย ปลิวไสวสวยงามสง่า
สีแดงคือชาติ สีขาวศาสนา
สีน้ำเงินนั้นหมายว่า พระมหากษัตริย์ไทย”

เนื้อเพลงดั้งเดิมที่สมบูรณ์ที่พอจะหามาได้คือ (อ้างอิง 2) ซึ่งเป็นเนื้อเพลงที่มีความแตกต่างกันในส่วนของเนื้อที่เพิ่มเข้ามา และ เวลาที่อยู่ในเพลงต่างกันคือ แม่อุ้ย ร้องว่า 7 นาฬิกา แต่ในเนื้อที่ได้จาก พิพิธภัณฑ์ ธงชาติไทย เป็น 8 นาฬิกา

“ไตรรงค์ธงไทย โบกสะบัดสวยงามสง่า
8 นาฬิกา สัญญากันว่ายืนตรง ตรง
พอแปดโมงเช้า ชักธงเคลื่อนออกจากที่
ไตรรงค์สามสี ปลิวสะบัดพัดอยู่เหนือลมๆ
สีแดงคือชาติ สีขาวคือศาสนา
สีน้ำเงินนั้นหนา คือมหาจักรพงศ์”

ในส่วนนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเป็น 2 ทางคือ 1. แม่อุ้ยเกี๋ยงอาจจะจำคลาดเคลื่อนเนื่องจากเป็นเวลานานทำให้หลงลืมเนื้อร้องจาก 7 เป็น 8 นาฬิกา 2. หรือตอนนั้นมีการร้องเพลงกันไม่ตรงตามเนื้อที่กรุงเทพส่งมาถึงเนื่องจากไกลปืนเที่ยงตามที่ปรากฏในงานวิจัยของ ชนิดา พรหมพยัคฆ์ “ขอให้ผู้มีหน้าที่ รับผิดชอบในการชักธงพึงระมัดระวังว่า เวลาชักธงขึ้นคือ 8 นาฬิกา เวลาชักธงลง คือ 18 นาฬิกา (ส่วนธงเรือนั้นคงปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของการชักรงประจำเรือ)” (อ้างอิง 3)

นอกจากนี้ในงานวิจัยของ ชนิดา พรหมพยัคฆ์ ก็ได้ระบุว่า ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2506 ได้มีบทเพลงปลุกใจชื่อเพลง “ไตรรงค์ธงไทย” (ไม่ทราบผู้ประพันธ์) แพร่หลายขึ้น โดยมีเนื้อหา สั้นๆ ว่า “ไตรรงค์ธงไทย ปลิวไสวสวยงามสง่า สีแดงคือชาติ สีขาวศาสนา สีน้ำเงินนั้นหมายว่า พระมหากษัตริย์ไทย” แสดงให้เห็นว่ามีการนำบทเพลงนี้นกลับมาเผยแพร่ใหม่อีกครั้งในปีดังกล่าว

และเพลง “ไตรรงค์ธงไทย” เคยมีการนำมาร้องบันทึกเสียงลงใน เทป 8 แทร็ค โดยสุเทพ วงศ์กำแหง และ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เมื่อปี พ.ศ.2512 ด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนจึงหาข้อมูลต่อว่าใครเป็นผู้แต่งเพลงดังกล่าว ไล่เรียงต่อได้เข้ามูลเพิ่มเติมเพียงว่า ประเทศสยามเปลี่ยนจากธงชาติมาเป็น ธงไตรรงค์ เมื่อ พ.ศ.2460 ตามบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(อ้างอิง 4) และได้เข้าร่วมใช่ธงไตรรงค์ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2462

และได้ค้นพบเนื้อหาบางส่วนจากบทความ มักกะลีผล บทที่ 11 ของ สุทัสสา อ่อนค้อม (อ้างอิง 5) มีเนื้อความ ดังนี้

“ บทที่ ๑๑ พันตรีพิบูลย์สงคราม
“พันตรีพิบูลย์สงคราม พันตรีพิบูลย์สงคราม ยกเป็นนามชาติไทย เกียจติศักดิ์อันสูงสุด อย่าลืมบรรพบุรุษของไทย พันตรีพิบูลย์สงคราม” เสียงร้องเพลงแจ้วๆ ดังมาจากประตูรั้ว คนอายุ ๘๔ กำลังดายหญ้าอยู่ในสวนหลังบ้านจึงอดไม่ได้ที่จะหันไปมอง ประมาณ ๗ นาฬิกา ของทุกวันหลานชายจะหาบสาแหลกเปล่ากลับมาบ้านหลังจากขายของหมด หากเดินร้องเพลงเข้ามาแปลว่าวันนั้นขายดี วันไหนขายไม่ดีก็จะไม่มีเสียงเพลงจากเค้า นอกจากเพลงพันตรีพิบูลย์สงครามแล้ว อีกเพลงหนึ่งที่ยายได้ยินเค้าร้องเป็นประจำคือเพลงธงไตรรงค์โดยเฉพาะเนื้อร้องที่ว่า สีแดงคือชาติ สีขาวคือพระศาสนา สีน้ำเงินนั่นหนาคือพระมหาจักรพงศ์นั้น ยายชอบนักชอบหนาฟังแล้วเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยซึ่งเป็นชาติอิสระ ไม่ขึ้นกับใครมีพระศาสนาเป็นเครื่องนำทางชีวิตและมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่รวมแห่งความจงรักภักดีของคนในชาติ”

ทำให้ทราบทันทีว่าเพลง “ไตรรงค์ธงไทย” มีมาก่อนหรืออย่างน้อยที่สุดก็คือช่วงสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม อยู่ในชั้นยศ พันตรีพิบูลย์สงคราม ซึ่งไม่เกินปี พ.ศ.2475 เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เลื่อนยศเป็น พันโท ในปี พ.ศ.2476 (อ้างอิง 6)

แต่หากจะกล่าวว่าเพลงแต่ขึ้นก่อนปี พ.ศ.2477 แน่นอน ก็อาจขัดกับข้อมูลของอุ้ยเกี๋ยงที่ให้ข้อมูลว่าร้องประมาณชั้นประถม 1 เมื่อเทียบปีแล้วพบว่า แม่อุ้ยเกี๋ยงเกิดปี พ.ศ.2477 ได้เข้าโรงเรียนและเรียนอยู่ระดับชั้นประถม 1 ได้ร้องเพลงไตรรงค์ธงไทย อายุก็ประมาณ 7–9 ขวบ ก็จะประมาณ พ.ศ.2484–2486 ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ก็สอดคล้องกับเนื้อหาของเพลงที่บอกว่า “7 นาฬิกา สัญญากันว่ายืนตรง ตรง” ซึ่งมีระเบียบการชักธงชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดถึงระเบียบในการชักธงและการประดับธงชาติ แม้ว่าการยืนเคารพธงชาติที่แพร่หลาย แต่เนื้อหาของเพลงอาจจะแต่งขึ้นพร้อมกับประกาศระเบียบการชักธงชาติก็ได้ แต่การยืนเคารพธงชาติเริ่มต้นแพร่หลายในปี พ.ศ.2485 ผลงานจากรายการวิทยุกระจายเสียง “นายมั่น-นายคง” ได้เชิญชวนและนัดหมายกับประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกัน (อ้างอิง 7)

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า เกี่ยวกับการตัดสินว่าจะใช้ธงชาติช้างเผือก หรือ ธงไตรรงค์ ซึ่งช่วงดังกล่าวอาจจะมีการแต่งเพลง “ไตรรงค์ธงไทย” เพื่อประชาสัมพันธ์ก็ได้(อ้างอิง 8)

หลังจาก พ.ศ.2480 หนังสืออ่านปลุกใจนักเรียน และเพลงปลุกใจเริ่มมีกระบวนการเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนรับรู้อย่างมาก เช่น หนังสือประกอบวิชาความรู้เรื่องเมืองไทยและหน้าที่พลเมือง กระทรวงธรรมการ ให้ใช้เป็นแบบเรียน และเพลงปลุกใจ เช่น เพลงเพื่อเอกราช เพลงอนุสติไทย เพลงศึกบางระจัน เป็นต้น (อ้างอิง 9:สิรินธร กีรติบุตร:2528) และเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็นไทย ในปี พ.ศ. 2482 (อ้างอิง 10)

เมื่อศึกษาข้อมูลในช่วงของการ เปลี่ยนธงชาติช้างเผือกเป็นธงไตรรงค์ ช่วงปี พ.ศ.2460 สภาพโลกขณะนั้นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาเรื่องธงไตรรงค์กับพระอนุชา คือสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (อ้างอิง 11) ซึ่งช่วงเวลาขณะนั้นก็มีปัญหาการตั้งรัชทายาทอยู่ด้วย (อ้างอิง 12)

ช่วงเวลาดังกล่าว พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ผู้มีส่วนในการแต่งเพลงสรรเสริญพระมหกษัตริย์ และเป็นผู้แต่งเพลงชาติด้วย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงเจนดุริยางค์ ในปี พ.ศ. 2460 และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระเจนดุริยางค์ ถือศักดินา ๖๐๐ ในปี พ.ศ. 2465 (อ้างอิง 13)

ผู้เขียนจึงเสนอว่า

  1. เพลงไตรรงค์ธงไทย เวอร์ชั่นแรก แต่งขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2460-พ.ศ.2476 โดย พระเจนดุริยางค์ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเนื้อเพลงยั้งใช่คำว่า “ไตรรงค์ธงชาติ” และ “มหาจักรพงษ์” ซึ่งผู้เขียนมองว่าการแต่งเพลงเพื่อประชาสัมพันธ์ธงชาติใหม่แบบธงไตรรงค์และเผยแพร่พระบารมีของสายสกุล “จักรพงษ์” ในคราวเดียว
  2. มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อร้องเพลงไตรรงค์ธงไทย อีกหลายครั้ง หลังปี พ.ศ.2476 พ.ศ.2480 และ พ.ศ.2500 ตามลำดับ
  3. แม่อุ้ยเกี๋ยงอาจจะได้ร้องเพลงเนื้อหาเก่าเนื่องจากผู้นำร้องเป็นครูซึ่งอยู่ในป่าเขาไกลปืนเที่ยง ไม่ได้อัพเดตเนื้อร้องที่อาจเปลี่ยนไปแล้วเนื่องจากข่าวสารไปไม่ถึงพื้นที่

ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงความคิดเห็นจากการวิเคราะห์ของผู้เขียนเท่านั้น เพื่อตอบข้อสงสัยของตัวเองเกี่ยวกับเพลง “ไตรรงค์ธงไทย” และ ใช้เวลาว่างศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านคำบอกเล่าของแม่อุ้ยของผู้เขียนเองในช่วงไวรัสโควิด19 ระบาด

(เพิ่มเติม ภายหลัง)

ผู้เขียนได้ค้นคว้าเพิ่มเติมในส่วนของเพลงไตรรงค์ธงไทย โดยหาว่ามีผู้แต่เพลงที่ใช้คำเกี่ยวกับ “ไตรรงค์ ธงไทย” ในยุคดังกล่าวหรือไม่ พบว่า มีชื่อเพลงและผู้แต่ง ดังนี้

  1. เพลง มาร์ชไตรรงค์ แต่งโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) แต่งขึ้นประกอบภาพยนต์ “เลือดทหาร” ในปี พ.ศ. 2477(อ้างอิง 14)
  2. เพลง ไตรรงค์ แต่งโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) แต่งขึ้นประกอบภาพยนต์ “เลือดทหาร” ในปี พ.ศ. 2477
  3. เพลง ไตรรงค์สะบัดชาย แต่งโดย พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) แต่งขึ้นและขับร้องในคณะศรีโอภาส ขับร้องโดย ประทุม ประทีปเสน ในเนื้อเพลงมีการใช้คำว่า “ไตรรงค์ ธงไทย”
  4. เพลง ใต้ร่มธงไทย แต่งโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา)
  5. เพลง ไตรรงค์ แต่งโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา)
  6. เพลง ไตรรงค์ที่ยอดเสา แต่งโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) แต่งขึ้นประกอบละครเรื่อง “อานุภาพแห่งความรัก” สิงหาคม พ.ศ.2499
  7. เพลง เพื่อไตรรงค์ แต่งโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา)

จากทั้งหมด 7 เพลงข้างต้น ผู้เขียนคิดว่าเพลงที่ 1 กับ 2 คือเพลงเดียวกัน รวมถึงเพลงที่ 3 ได้ฟังเนื้อร้องแล้วไม่ใช่เนื้อเพลง “ไตรรงค์ธงไทย” เพลงที่ 4 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้แต่งจริงหรือไม่ แต่เนื้อเพลงไม่ใช่ที่ค้นคว้า เช่นเดียวกับเพลงที่ 6 เนื้อเพลงไม่ใช่ที่ผู้เขียนสนใจเช่นกัน

แต่เพลงที่ 5 กับ เพลงที่ 7 ที่แต่งโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าคือเพลงเดียวกันหรือไม่ ยังไม่ได้ฟังหรือได้เห็นเนื้อร้อง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เพลงไตรรงค์ หรือ เพลงเพื่อไตรรงค์ ของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ อาจจะเป็นเพลงเดียวกับ เพลง “ไตรรงค์ธงไทย” ก็เป็นได้ เนื่องจากสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ประจักษ์ สังเกตุ(อ้างอิง 15) ที่ศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อ “เพลงปลุกใจของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ” ว่า หลวงวิจิตรวาทการ ชอบแต่เพลงปลุกใจ และบางเพลงใช้ชื่อเพลงว่าไตรรงค์ด้วย

อย่างไรก็ตามทำให้เพลงไตรรงค์ธงไทยนี้มีผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้แต่งเพลงดังกล่าว เพิ่มเติม ดังนี้

  1. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  2. พระเจนดุริยางค์
  3. ขุนวิจิตรมาตรา
  4. พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

ทั้งนี้ต้องวิเคราะห์ทำนองเพลงไตรรงค์ธงไทยว่าอยู่ร่วมสมัยกับทำนองเพลงใดเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ใกล้เคียงเพื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลา

อ้างอิง

  1. วิกิพีเดีย. สืบค้น 8 สิงหาคม พ.ศ.2564. th.wikipedia.org/wiki/พ.ศ._2477
  2. เพลง : ไตรรงค์ธงไทย (รำมะนา). สืบค้น 10 สิงหาคม พ.ศ.2564. https://www.youtube.com/watch?v=bvrjPifemCA
  3. ธงไตรรงค์กับการสร้างอุดมการณ์รัฐไทย พ.ศ.2459–2520. ชนิดา พรหมพยัคฆ์. 2543. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

4. ที่มา “ธงชาติไตรรงค์” ไอเดียใครออกแบบ ทำไมเลือกใช้สีแดง-น้ำเงิน-ขาว. นิตยสารออนไลน์ ศิลปะวัฒนธรรม. สืบค้น 8 สิงหาคม พ.ศ.2564. https://www.silpa-mag.com/history/article_52059

5. ธรรมนิยายชุด สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เรื่องที่ 1 มักกะลีผล บทที่ 11–20. สุทัสสา อ่อนค้อม. สืบค้น 8 สิงหาคม พ.ศ.2564.

6. วิกิพีเดีย. สืบค้น 10 สิงหาคม พ.ศ.2564. https://th.wikipedia.org/wiki/แปลก_พิบูลสงคราม

7. อ่านกันชัดๆ ยืนตรงเคารพธงชาติไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/social/news_2416260

8. วิกิพีเดีย. สืบค้น 10 สิงหาคม พ.ศ.2564. https://th.wikipedia.org/wiki/ธงชาติไทย

9. เพลงปลุกใจไทย (พ.ศ. 2475–2525) : การวิเคราะห์การเมืองไทย. สิรินธร กีรติบุตร. 2528. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

10. 7 กันยายน 2488 ไทยใช้ Siam เป็นชื่อประเทศในภาษาอังกฤษ สุดท้าย จอมพล ป. เปลี่ยนเป็น Thailand. ธนกร วงษ์ปัญญา. สืบค้น 9 สิงหาคม พ.ศ.2564. https://thestandard.co/7-september-2488-changed-the-countrys-name-from-siam-to-thailand/

11. การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”. กษิดิศ อนันทนาธร. https://www.the101.world/mahidol-king

12. ปัญหาตั้งรัชทายาทสมัยร.6 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ปะทะฝีปากเจ้านาย. นิตยสารออนไลน์ ศิลปะวัฒนธรรม. สืบค้น 10 สิงหาคม พ.ศ.2564. https://www.silpa-mag.com/history/article_44582

13. พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร). สืบค้น 9 สิงหาคม พ.ศ.2564. https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจนดุริยางค์_(ปิติ_วาทยะกร)

14.sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plenthaisakol-86/

15. ประจักษ์ สังเกตุ. (2540). เพลงปลุกใจของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ. มหาวิทยาลัยมหิดล.

--

--

เย็นลมจอย
เย็นลมจอย

Written by เย็นลมจอย

สายลมถิ่น จอยวอยเย็น เป็นนิรันดร์

No responses yet