โดย สุรเชษฐ์ พอสม
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 สายร้องกวาง–งาว หรือ ถนนวังซ้าย เดิมเป็นถนน 2 เลนวิ่งสวน ปัจจุบันพัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดินขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ ในเขตทางราบ และขนาด 3 สลับ 2 ช่องจราจรในเขตภูเขา (กม. 30+000 ถึง 49+770) [1] ถนนวังซ้าย เริ่มต้นจากแยกร้องกวาง บริเวณแยกทางหลวงหมายเลข 101 (ถนนยันตรกิจโกศล) บ้านร้องเข็ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ จากนั้นวิ่งตรงมาก่อนถึงแยกเข้าตัว อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เรียกว่าแยกนางฟ้า และตรงเข้าพื้นที่ป่า ผ่านตำบลแม่ตีบ มาถึงแยกบ้านเป๊าะ อำเภองาว จังหวัดลำปาง บรรจบกับถนนพหลโยธิน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ระยะทางรวม 65.9 กิโลเมตร
ถนนวังซ้าย ยังมีถนนคู่ขนาน คือ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1154 แยกขวามือถ้ามาจากแยกร้องกวาง ตรงสามแยกนางฟ้า ไปยัง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เป็นเส้นทางผ่านอำเภอสอง แล้วตัดเข้าป่าผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม และพื้นที่ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ไปเรื่องๆ
จนบรรจบกับถนนพหลโยธิน ตรงสะพานแขวน ในตัวอำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีการใช้งานตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยช่วงก่อนส่งครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเส้นทาง 1154 ต้องตัดข้ามแม่น้ำงาว ซึ่งเป็นน้ำสาขาหลักของแม่น้ำยม ในตัวเมืองงาว จึงได้มีการสร้างสะพานแขวนแห่งแรกของประเทศไทย [2] ในปี พ.ศ. 2469 เพื่อข้ามลำน้ำงาวใช้ระยะเวลาสร้างรวมทั้งสิ้น 18 เดือน และเริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2471 มีความยาว 80 เมตร กว้าง 4 เมตร
เอาละมาถึงสาระสำคัญของเรื่อง คือ ทำไมถนนเส้นนี้ถึงเรียกว่า ถนนวังซ้าย นั่นมีที่มาจาก ถนนเส้นนี้สร้างและเรียกตามชื่อผู้สร้าง นั่นคือ “นายตุ่น วังซ้าย” หรือ เจ้าตุ่น วังซ้าย นายช่างกรมทางหลวง ตำแหน่งนายช่างโยธาเขตการทางแพร่ คนแรก ซึ่ง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 28 ก.พ. 2495 ถึง 30 ก.ย. 2509 [3]
เดิมทางหลวงหมายเลข 103 นี้ เป็นเส้นทางสายเก่าที่สุดของจังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง [4] ในอดีตเส้นทางนี้เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักอีกสายหนึ่งหากจะเดินทางไปจังหวัดลำปาง พะเยา เชียงราย และเชียงใหม่ ถนนวังซ้าย เดิมทับซ้อนกันระหว่างถนนสาย 103 ถนนสาย 1154 และมีความคับแคบ นอกจากนี้ยังประสบปัญหา เมื่อผ่านเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่งาว ไม่สามารถขยายเขตทาง เนื่องจากติดข้อกฏหมายกับพื้นที่ป่า ทำให้ ครม. ชุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีมติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2493 ให้กรมทางหลวงพิจารณาตัดแนวทางใหม่คือเส้นทางสาย 103 ปัจจุบัน เพื่อรองรับการเดินทางไปพื้นที่จังหวัดลำปาง พะเยา เชียงราย และออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว จีน และนี้ก็คือที่มาของชื่อ “ถนนวังซ้าย” หายสงสัยสักที เลยได้เขียนเผื่อไวหากมีท่านอื่นสงสัยเช่นกัน ยังไม่จบมีต่อเป็นเกร็ดนิดหน่อย
เกร็ดประวัติศาสตร์เล็กน้อยสำหรับ นายตุ่น วังซ้าย นามสกุล “วังซ้าย” มีต้นสกุล คือ เป็นเจ้าผู้รั้งตำแหน่งพระวังซ้าย แห่งนครรัฐแพร่ โดย เจ้าวังซ้าย(เฒ่า) แต่งงานกับ แม่เจ้าแก้ววรรณา มีธิดาคนที่ 4 คือ แม่เจ้าคำค่าย แต่งานกับ เจ้าวังซ้าย(หนุ่ม) หรือเจ้ามหาจักร (เจ้าหนานขัติยะวงศา) บุตรคนที่ 1 ของ พญาหัวเวียงแก้ว (เมืองเชียงแสน) กับแม่เจ้ากัญญา เจ้าวังซ้าย(หนุ่ม) มีบุตรคนที่ 8 ชื่อเจ้าน้อย วังซ้าย แต่งงานกับแม่เจ้ายวง อุตรพงศ์ (ธิดาเจ้าน้อยวงศ์ อุตรพงศ์) มีบุตรคือ เจ้าตุ่น วังซ้าย (นายตุ่น วังซ้าย) [5]
มุขปาฐะ : จากคำบอกเล่าของ แม่อุ้ยเกี๋ยง จันทร์ขาว จากความทรงจำเล่าถึงความเป็นอยู่และเส้นทางการเดินทางของชาวบ้านตำบลแม่ตีบ เมื่อประมาณ 80 ปี(ปัจจุบัน 17 มี.ค.65) ที่ผ่านมา ตอนเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาได้เดินทางไปร่วมแข่งขันกีฬานักเรียนในตัวอำเภอเมืองงาว โดยมีคณะครู และผู้ปกครอง เป็นผู้นำพาเดินทางไปพักแรมที่บ้านพักครู โรงเรียน และวัดในพื้นที่ อำเภอเมืองงาว เพื่อแข่งกีฬานักเรียนอำเภอ ซึ่งทุกตำบลส่งตัวแทนนักเรียนเข้าร่วม โดยแม่อุ้ยเกี๋ยง ได้เล่าถึงเส้นทางที่ใช้เป็นทางเดินเท้า ตามแนวป่า เป็นเส้นทางเดียวกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 สายร้องกวาง–งาว หรือ ถนนวังซ้าย ในปัจจุบัน และอีกประมาณ 20 ปีต่อมาจากนั้น หรือประมาณ 60 ปี ที่ผ่านมาชาวตำบลแม่ตีบ หากใครมีความจำเป็นต้องเดินทางไปอำเภองาว ช่วงฤดูฝน หรือ ต้องส่งลูกไปเรียนหนังสือในตัวอำเภอ ช่วงฤดูน้ำหลาก จำเป็นต้องข้ามลำน้ำแม่งาวในบริเวณพื้นที่ บ้านแม่งาว (ปัจจุบัน หมู่ 5 ต.แม่ตีบ) ด้วยการขี่ช้างข้ามน้ำ หรือ ขี่แพที่ทำจากต้นกล้วย เพื่อข้ามฟากไปใช้เส้นทางสาย 1154 ในปัจจุบัน ในการเดินทางเข้าสู่ตัวอำเภองาว
อ้างอิง
[1] https://th.wikipedia.org/wiki/ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข_103
[2] https://www.museumthailand.com/th/2262/storytelling/สะพานโยงเมืองงาว/
[3] http://phrae.doh.go.th/phrae/content/page/page/14043
[4] https://www.facebook.com/Ancient.Phrae/posts/3298783530132919
[5] บัวผิว วงศ์พระถาง, เจ้าไข่มุกต์ ประชาศรัยสรเดช และดวงแก้ว รัตนวงศ์. (2537). เชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ ๔ สมัย(พ.ศ. 2361–2445). แพร่ : แพร่ไทยอุตสาหการพิมพ์.